The Long Walk: บ่มีวันจาก

The Long Walk (หรือชื่อภาษาลาวคือ บ่มีวันจาก – ບໍ່ມີວັນຈາກ) เป็นหนัง Sci-fi Thriller จากประเทศลาว หนังกำกับโดย Mattie Do ผกกหญิงคนแรกและคนเดียวของลาวครับ หนังเปิดตัวที่งาน Venice International Film Festival ครั้งที่ 76 ด้วย หนังเพิ่งเข้าไทยเมื่อเดือนกุมภานี้และตอนนี้ก็ลง Netflix แล้วครับ


ภาพประกอบจาก Facebook – The Long Walk Film

The Long Walk เล่าเรื่องราวของประเทศลาวในโลกอนาคตที่ผู้คนฝังชิฟใต้ผิวหนังเพื่อระบุ ID ตัวตน, จ่ายเงิน, มีเครื่องบินสุดไฮเทค แต่ว่าในชนบทนั้นผู้คนก็ยังมีวิถีชีวิตแบบเดิมควบคู่ไปกับความไฮเทคนั้นแหละ ตัวเอกในเรื่องคือ “ลุง” ผู้มีความสามารถพิเศษในการมองเห็นวิญญาณ วันนึงเขาพบว่าวิญญาณหญิงสาวที่ตามติดเขามา 50 กว่าปี (จนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว) นั้นมีความสามารถในการย้อนเวลา เรื่องราวในอดีตที่แสนเจ็บปวดจึงย้อนกลับมาครับ

ขอสารภาพก่อนว่าผมพยายามดูแบบไม่เปิด Sub อยู่ประมาณ 10 นาทีก็ยอมแพ้ครับ เพราะฟังเข้าใจแค่ 1/3 เอง (เฉพาะประโยคหรือคำที่ใกล้เคียงภาษาไทย) ส่วนที่เหลือคือฟังออกมาเป็นคำๆ แต่เรียบเรียงประโยคไม่ได้ ก็เลยเปิด Sub ไทยดูประกอบแล้วก็เข้าใจและเหมือนจะคิดไปเองว่าฟังเข้าใจมากขึ้น (ฮา)

The Long Walk เป็นหนังสไตล์ slow-burn ที่สร้าง world setting ได้ดีมากครับ คือเนื้อเรื่องมันเกิดในอนาคต แต่แทนที่หนังจะเดินเรื่องในเมืองไฮเทคที่เห็นอยู่ลิบๆ ในเรื่อง หนังกลับเดินในเรื่องชนบทอันห่างไกลที่สภาพแวดล้อมก็ไม่ต่างจากชนบทสมัยนี้หรือสมัยก่อนเลย นอกจากชีวิตส่วนตัวบางอย่างที่ไฮเทคขึ้น (มีการฝังชิฟ, ใช้หลอดไฟ LED, มีจอสุดไฮเทคขึ้นมาในตัว) แต่อย่างอื่นก็เหมือนเดิมไม่ว่างจะสภาพความแร้งแค้น ความเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เหมือนเดิมทุกอย่าง ถนนลูกรัง นอกจากนี้สิ่งที่เดินเรื่องก็คือผีซึ่งเป็นความเชื่อโบราณซึ่งก็ดูเข้ากับสภาพสังคมหมู่บ้านในเรื่องดี แต่ผีนั้นก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเดินทางข้ามเวลาในที่ drive ประเด็นหลักของเรื่องไปทางวิทยาศาสตร์ซะงั้น

ความแตกต่างอันสุดขั้วในเรื่องนี้แหละคือสเน่ห์ของหนังเรื่องนี้ หนังเป็นหนัง Sci-fi ที่เล่าเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการเดินทางท่องไปมาระหว่าง loop เวลาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเล่นกับทฤษฎี butterfly effect เยอะมากๆ ในขณะเดียวกันสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเดินทางข้ามเวลาและการกระทำของตัวละครก็คือความเชื่อเรื่องผี/วิญญาณ,ศาสนาและกฏแห่งกรรม มันเล่า logic แบบ Sci-fi ผ่านความเชื่อออกมาได้ดี แปลกใหม่ ยิ่งเราเป็นคนประเทศเพื่อบ้านที่มีความชุดความเชื่อแบบเดียวกันด้วยยิ่งเข้าใจและอินได้ไม่ยากครับ บรรยากาศและการเดินเรื่องก็ทำออกมาสมกับเป็นหนัง Thriller ดี มันให้ความไม่น่าไว้วางใจ ความกดดัน ดูแล้วสงสัยตลอดเวลาว่านี่มันอดีตหรืออนาคตวะ เล่าเรื่องปมดำมืดในจิตใจคนได้ชัดเจน


ภาพประกอบจาก Facebook – The Long Walk Film

อ้อ ถึงในเรื่องจะมีผีและมืดๆ ให้บรรยากาศความเป็น Thriller ทั้งเรื่อง แต่ว่าผีในเรื่องก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรครับ ไม่มี jump scare หลอกตุ้งแช่โหดๆ อะไร ให้ความรู้สึกเหมือนคนที่อยู่ในอีกสถานะนึงที่ซ้อนทับกับโลกของเราเท่านั้น

ด้าน Production ต้องบอกโคตรเนี๊ยบ การเล่นแสงเล่นเสียงที่เสริมความไม่น่าไว้วางใจ องค์ประกอบต่างๆ ทำออกมาดีมากๆ ที่ชอบคือบ้านที่เกิดเหตุในเรื่องที่สร้างออกมาได้สภาพดูเก่าแบบผ่านการใช้งานมีคนมาอยู่จริงๆ ไม่ได้ดูออกว่าสร้างใหม่ นักแสดงก็เล่นดีโดยเฉพาะแม่หญิงที่เล่นเป็นผีย้อนเวลาที่ทั้งเรื่องแสดงออกทางสีหน้าได้อย่างเดียว แต่เราก็เข้าใจความรู้สึกของเธอเลย ยานนะวุดทิ จันทะลังสีผู้รับบทเป็นลุงก็เล่นได้ดี แกนิ่งๆ แต่เราเข้าใจความเจ็บปวดของแกเลย

นอกจากความเป็นหนังวิทยาศาสตร์และหนังผีแล้ว หนังยังสอดแทรกเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างตัวเมืองกับชนบทที่ไม่ว่าจะกี่ปีๆ ก็ห่างกันเหมือนเดิม การพัฒนาที่ไม่ถูกจุดไม่ได้สนว่าคนท้องถิ่นต้องการอะไรจริงๆ มีประเด็น LGBTQ ในสังคมชนบทที่คนรุ่นก่อน (เช่นลุง) อาจจะยังไม่สนิทใจนัก, เรื่องการุณฆาต ซึ่งทุกอย่างก็ดูเป็นประเด็นทางสังคมที่บอกเล่าอนาคตได้เป็นอย่างดีครับ


ภาพประกอบจาก Facebook – The Long Walk Film

สำหรับผมแล้ว The Long Walk – บ่มีวันจากเป็นหนัง Sci-fi เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกพยายามมากมายแบบ Tenet ดูไม่ยากด้วย ความสดใหม่ของมันคือเล่า plot วิทยาศาสตร์ด้วยชุดความเชื่อท้องถิ่นที่ไม่ตีความวิทยาศาสตร์เข้าข้างศาสนา (ไม่กาวนั่นเอง) แต่เล่าทั้งสองมุมไปพร้อมๆ กันอย่างเนียนกริบ โดยไม่ต้องเวอร์วังอลังการอะไร (แบบ Tenet ฮาา)

แนะนำครับ

Link:
The Long Walk บ่มีวันจาก: เมื่อความตายหาใช่ ‘การหลุดพ้น’ จากความรู้สึกผิดบาป
The Long Walk บ่มีวันจาก การเดินทางอันยาวนานของบ่วงกรรมที่ไม่อาจลบเลือนด้วยกาลเวลา
อดีตไม่เคยตาย ที่จริงมันไม่เคยเป็นอดีตด้วยซ้ำ ‘บ่มีวันจาก’ หนังไซไฟ-เขย่าขวัญจากลาว

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.