ทวิภพ (The Siam Renaissance)

ทวิภพ (ปี 2547) เป็นภาพยนต์ไทยหนึ่งใน 19 เรื่องที่ทางหอภาพยนต์ร่วมกับ Netflix ประเทศไทยนำออกมาฉายใหม่ในระบบด้วยแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ครับ สำหรับ version ที่นำมาฉายยังเป็นฉบับ Director Cut ซึ่งเคยฉายแบบจำกัดโรงมาแล้วด้วย


ภาพประกอบจากเวบ Pantip

ทวิภพเล่าเรื่องราวของแม่มณีจันทร์ นักประวัติศาสตร์ประจำกงสุลไทยนครปารีสที่อยู่ๆ เธอก็กลับไปกลับมาระหว่างประเทศไทยปี 2547 กับอาณาจักรสยามในช่วงรัชกาลที่ 4ได้ การปรากฏกายของหญิงสาวแปลกหน้าที่พูดได้ทั้งไทย อังกฤษและฝรั่งเศส ในเมืองสยามเวลานั้น ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และหลวงอัครเทพวรการสนใจเธอมากเพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ขยายอำนาจเข้ามาประชิดสยามมากขึ้น (และนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112)

ออกตัวก่อน ตอนดูไม่ได้คิดในแง่มุมประวัติศาสตร์ การเมืองอะไรเท่าไหร่ ของรีวิวในแง่หน้าหนังทั่วๆ ไปละกันครับ

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือความกล้าที่จะรื้อถอนและตีความบทประพันธ์ดั้งเดิมของทมยันตีเสียใหม่หมด แถมยังตีความใหม่ทุกอย่างยันแก่นของเรื่องเลยครับ เหลือแค่นางเอกชื่อแม่มณีย้อนเวลาไปอดีตในช่วงเวลาวิกฤติระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับสยามได้เท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไรเหมือนกัน ยุคสมัยก็ต่าง ตัวตนของนางเอกก็ต่าง พระเอกก็ต่าง วิธีไปก็ต่าง และวิธีการเดินเรื่องก็ต่าง จากนิยายโรแมนติก-ประวัติศาสตร์ชาตินิยมกลายเป็น Fantasy-ประวัติศาสตร์ไปแทน

มันหนังเป็นหนังที่ภาพสวย ฉากในอดีตเนี๊ยบ แสงสวย ไม่ได้สวยแบบในแง่สมจริงโคตรๆ อะไรแบบนั้น (เพราะผมดูไม่ออก) แต่แบบแสง เงา องค์ประกอบภาพสวย รายละเอียดในฉากสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่นฉากเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่มีทั้งความเข้มข้นตามหนังการเมืองสมัยใหม่และแสดงความต่างกันทางวัฒนธรรมได้อย่างดี ภาพและเสียงก็เร่งเร้าความร้อนแรงให้เราเข้าใจบรรยากาศในห้องเลย ฉากข้ามเวลาก็ทำออกมาได้ surreal ดี มันดูคุมไม่ได้ สวย เนียนไปกับทั้งอดีตและปัจจุบัน

ในแง่การเมืองและประวัติศาสตร์ที่เป็นแรงผลักดันเรื่องนี้ก็น่าสนใจ มันดูไม่ได้ชาตินิยมจ๋าๆ แบบต้นฉบับ มันมีเรื่องการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ในเรื่องมีกระทั่งคำพูดว่าเราถูกกดให้ยอมจนไม่กล้าเปลี่ยน ไม่กล้าออกไปดูโลก หรือแม้กระทั่งเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่ทุกอย่างยังก็ยังคงเหมือนเดิมในปี 2565 นี้ คือเต็มไปด้วยฉากที่ตัดมาเป็นมีมตบหน้าสังคมไทยได้เพียบ แต่เนื้อเรื่องมันก็ยังมีความโหยหาอัตตาลักษณ์และความรุ่งเรืองในอดีตของสยาม ความคิดเรื่องศูนย์รวมใจ (ที่จริงๆ สมัยนั้นยังไม่มี!) หรือแม้กระทั่งประเด็นตอนจบ ซึ่งพอมาย้อนนึกดูว่าหนังสร้างในช่วงปี 2546-2547 ซึ่งเป็นยุคทักษิณ 1 ก็ไม่น่าแปลกใจกับความรู้สึกทั้งสองขั้วที่ผสมปนเปกันไปได้กับบริบทในช่วงยุคสมัยนั้น บุคคลในประวัติศาสตร์ที่โผล่มาในเรื่องก็น่าสนใจกับสยามในยุคต่อไปไม่ว่าจะเป็น Sir John Bowring หรือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (ยอร์ชวอชิงตัน) (วังหน้าองค์สุดท้าย – วิกฤตการณ์วังหน้า)ครับ

ข้อเสียคือหนังมันใช้พลังจินตนาการสูงมาก ยิ่งใช้การเดินเรื่อง (และเวลา) ไม่เป็นเส้นตรงตามแบบหนังสมัยใหม่ ถ้าเคยดู version ใกล้เคียงต้นฉบับมาจะเหวอเลย กว่าจะตั้งตัวติดก็พักใหญ่เลย บทพูดของนางเอกที่ชวนงง (ในแง่นึงก็เข้าใจว่าทำไมชาวสยามคุยกับเธอแล้วคิดว่าเธอเป็นสปาย ฮาาา) เอาเป็นว่าต้องคิดว่ามันเป็นหนังสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องเดิมเลยก็ได้ครับ

ส่วนตัวแนะนำให้ดูเองกับหนังที่กล้าจะตีความบทประพันธ์อมตะใหม่หมดระดับนี้ครับ

สำหรับใครที่สนใจบทวิเคราะห์ทวิภพ version นี้แบบลึกๆ แนะนำ ภัยของมณีจันทร์ ที่เวบหอภาพยนตร์กับ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ยาหลอนประสาทของมณีจันทร์ ในหนังทวิภพครับ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.