พาทัวร์แดนเขมร #3:1 Bayon Smile

หลังจากชมนาฏศิลป์ประจำชาติกัมพูชาในคืนที่ 2 กันแล้ว วันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางเราจะไปนครธรมกันครับ

นครธมหรืออังกอร์ธม (แปลว่าเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง) เป็นเมืองหลวงสุดท้ายของอณาจักรเขมรในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 อีกชื่อนึงที่คุ้นกันคือ “เมืองพระนคร” เมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วน “นครวัด” หรืออังกร์วัดเป็นศาสนสถานที่ใหญ่มากๆ จนเปรียบว่าเป็นนครครับ


ศิลาทรายสลักเหล่าเทวดาฉุดตัวนาคที่หน้าทางเข้านครธมครับ ฝั่งซ้ายที่เห็นเป็นเทวดา ฝั่งขวาเป็นอสูรฉุดนาค จำลองการกวนเกษียณสมุทธมั่นเอง


ด้านในนครธม เป็นทางเดินยาวเข้าไปด้านอีกต่อ

ทางที่เราเข้ามาเป็นซุ้มประตูทางทิศใต้ที่อยู่เลยนครวัดมาไม่ไกลครับ ที่ซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านเป็นหินทรายสลักรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตอนดูในรูปก็เฉยๆ แต่พอดูด้วยตาตัวเองแล้วรู้สึกว่าแม้จะเล็กกว่าที่คิด แต่ก็สวยและอลังการมากกกก

นั่งรถเข้ามาต่อสักพักก็ถึงปราสาทบายนซึ่งเป็นปราสาทหลวงของเมืองพระนครแห่งนี้ครับ

ปราสาทบายนสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 มีศิลปะที่โดดเด่นจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะแบบบายน เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ว่าโครงสร้างและการวางผังปราสาทยังอิงกับแนวฮินดูคือแทนตัวปราสาทเป็นเขาพระสุเมรุอยู่


งานแกะสลับที่ปราสาทนี้ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ครับ หลายๆ ส่วนยังทำไม่เสร็จ (เช่นเดียวกับนครวัด) ด้วยซ้ำ


พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรต้อนรับเราตั้งแต่ทางเข้าเลยทีเดียว

เดินเข้ามาจะเจอระเบียงคดก่อนครับ เป็นภาพแกะสลักที่อาจจะไม่งามอลังการเท่านครวัดนัก แต่ที่นี่เน้นบันทึกประวัติศาสตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และบันทึกวิถีชีวิตประจำวันของชาวเขมรเมื่อหลายพันปีก่อนมากกว่า


ภาพจากระเบียงคดตะวันออกปีกด้านใต้ ภาพกองทัพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่กำลังจะไปขับไล่ชาวจาม


อันนี้ภาพชาวบ้านในระเบียงคดด้านเดียวกัน ผู้หญิงอุ้มเต่า แล้วเต่ายืดคอมากัดก้นคนข้างหน้า


ชาวบ้านปิ้งปลา


ชาวบ้านทำอาหาร


ระเบียงคดทิศใต้ ยุทธนาวีตวนเลสาบระหว่างทหารเขมรกับทหารจามครับ

ระเบียงคดที่นี่แม้จะไม่ยาวและกว้างเท่านครวัดแต่ก็มีอะไรให้ดูเยอะครับ โดยเฉพาะภาพที่บรรยาศความยิ่งใหญ่ของอณาจักรเขมรในสมัยนั้น ซึ่งเพื่อนร่วมทัวร์ผมที่ฟังไกด์บรรยายความยิ่งใหญ่ของอณาจักรเขมรในสมัยนั้นแล้วเดินส่ายหัวออกมาแล้วพูดออกมาอย่างน่าสมเพชว่า “ในฐานะคนไทยฉันฟังไม่ได้”

ดูระเบียงคดอยู่ไม่นานก็เดินตามพี่ไกด์เข้าไปด้านในปราสาทกัน

ปรางพระพักตร์แห่งบายนจะเห็นชัดๆ และใกล้ที่สุดที่ชั้นที่ 3 ซึ่งก็เดินขึ้นไปง่ายๆ ไม่ชันครับ วันที่ไปคนเพียบเลยยยยย

ตอนอยู่นอกปราสาทไม่คิดว่าจะเยอะนะครับ พอเข้าไปชั้น 3 ได้นี่ต้องยอมรับว่าปรางค์พระพักตร์เยอะมากจริงๆ หันไปทางไหนก็มีหน้าพระโพธิสัตว์มองมาจากทุกทิศทางเลย จำนวนพระปรางค์ถ้าดูจากผังปราสาทแล้วเชื่อว่าน่าจะมี 54 ปรางค์แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 37 ปรางค์เท่านั้นครับ

อยู่ที่ชั้น 3 สักพักก็รีบลง เพราะคนเยอะมากกกกกกกกกกก หลงกับไกด์ไปสองสามรอบเลย แล้วทิศทางก็งงๆ เพราะหันไปด้านไหนก็มีแต่ปรางค์พระพักตร์ -*- ระหว่างทางอยู่ชั้น 2 – 3 นี้เจอบางส่วนมีรอยการทำลายรูปสลักพระโพธิสัตว์ ไกด์ (คนไทย) บอกว่าน่าจะเป็นสมัยหลังจากนั้นที่กษัตริย์เขมรเปลี่ยนกลับมานับถือฮินดูเลยมีการทำลายรูปเคารพของพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างรูปเคารพของฮินดูแทน (นครวัดก็มีร่องรอยการสลับไปสลับมาระหว่างฮินดู — พุทธมหายาน — พุทธหินยาน เช่นกันครับ)

ก่อนจะออกจากปราสาทบายนและนครธมเจอขบวนแห่บวชนาของคนกัมพูชาครับ ที่เจ๋งคือบ้านเราวนรอบวัด แต่บ้านเขาวนรอบปราสาทบายนกันเลยทีเดียว เมพมาก

ก็จบสำหรับนครธมและปราสาทบายนแล้วครับ เสียดายเหมือนกันที่ดูได้แค่นี้เพราะเมืองนครธมยังมีหลายที่ให้น่าไปดูเช่น ลานพระเจ้าขี้เรื้อนที่มีกำแพงซ่อนและรูปสลักแปลกๆ สวยๆ มากมาย หรือประตูเมืองให้ครบทุกทิศเลย ตัวปราสาทบายนเองก็น่าจะอยู่นานกว่านี้สักหน่อยนึง ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าจะเก็บนครธมให้ครบคงต้องใช้ทั้งวันไม่ต่างจากนครวัด (อันนั้นอาจจะต้องใช้หลายวัน)

ขอปิดท้ายด้วยคำบรรยายปราสาทบายนของปิแอร์ โลตี นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสครับ

ข้าพเจ้าแหงนหน้าขึ้นไปยังปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ ซึ่งทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือนคนแคระ และทันทีทันใด เลือดในตัวข้าพเจ้าก็เกิดเย็นแข็งตัวขึ้นมาเมื่อมองเห็นรอยยิ้มขนาดมหึมาที่กำลังมองลงมายังข้าพเจ้า แล้วก็ร้อยยิ้มซึ่งเหนือกำแพงอีกด้านหนึ่ง แล้วก็รอยยิ้มที่สาม ที่สี่ ที่ห้าแล้วก็ที่สิบ ปรากฏจากทุกสารทิศ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนมีตาคอยจ้องมองอยู่ทุกทิศทาง

หมายเหตุ: ข้อมูลอ้างอิงในการเขียนนำมาจากหนังสือต่อไปนี้ครับ
– Trips magazine ฉบับนครวัด นครธม
– คู่มือนำเที่ยวนครวัด นครธม โดยศรัณย์ บุญประเสริฐและยอด เนตรสุวรรณ

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.