BNK48 : Girls Don’t Cry

BNK48 : Girls Don’t Cry เป็นภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับสาวๆ วง BNK48 ที่กำกับโดย เต๋อ นวพล (ซึ่งผมเคยดูหนังเขาแค่เรื่องฟรีแลนซ์) ตัวหนังเป็นสารคดีที่รวมภาพฟุตเทจเหตุการณ์ต่างๆ ของสมาชิกวงรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ออดิชั่น, ซ้อม, ประกาศเซ็มบัตสึตั้งแต่ซิงเกิ้ล Aitakatta จนไปถึง Shonichi สลับไปกับบทสัมภาษณ์สมาชิกแต่ละคนเกี่ยวกับความรู้สึกในตอนนั้นๆ ครับ


รูปจาก BNK48 FB

Girls Don’t Cry นั้นเหมือนพาเราไปดูการแข่ง Hunger Game ที่ไม่ใช่ฆ่ากันเพื่อรอด แต่เพื่อแย่งชิงตำแหน่งเซ็มบัตสึกันในหมู่สมาชิกวงซึ่งก็เป็นเพื่อน, เป็นพี่, เป็นน้องกันทั้งหมด แต่กติกาในเกม (ซึ่งถูกวางโดย AKS, อฟซ รวมไปถึง drive มาจากตัวโอตะ) แม่งนั้นไม่มีอะไรเคลียร์เลยสักอย่างรวมไปถึงยังไม่แฟร์ด้วย

ออกตัวก่อนว่าใครที่คาดหวังว่าหนังจะแบ่งแอร์ไทม์ให้สมาชิกทุกคนได้ออกเท่าๆ กันในเรื่องนี้คงต้องผิดหวัง (ระดับ top บางคนออกแค่ 1 ฉากเท่านั้น) และใครที่คาดหวังว่าตัวหนังจะดราม่าแฉกันเละเทะก็ต้องบอกว่าไม่มี (แต่ เจนนิษฐ์ ดีแล้วที่พี่เต๋อไม่เอามาออก แสดงว่าจริงๆ ว่าจะมีอะไรอีกเยอะ อิอิ) ตัวหนังเน้นเรื่องชนชั้นระหว่างสมาชิกด้วยกันเป็นพิเศษ (ว่าง่ายๆ คือพวกติดเซ็มบัตสึกับไม่ติด) รวมไปถึงความพยายามของแต่ละชนชั้นที่พยายามจะรักษาตำแหน่งหรือก้าวขึ้นมาพร้อมๆ กับรักษาความสัมพันธ์ในวงและความเป็นตัวของตัวเองด้วย

ตัวหนังเน้นแบ่งเป็น 3 tier ด้วยกันคือระดับบนสุดที่ติดเซ็มบัตสึทุกซิงเกิ้ลและได้รับความนิยมสูงสุดซึ่งจะโฟกัสในมุมมองระดับ top ว่าแบกความคาดหวังของแฟนๆ ไว้อย่างไร, รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ที่ไม่ติดเซ็มอย่างไร, ฯลฯ คนที่น่าสนใจมากที่สุดและเป็นคนที่หนังโฟกัสมากที่สุดใน tier นี้คือกัปตันของวงอย่างเฌอปราง ซึ่งในหนังแสดงให้เห็นชัดเลยว่าเป็นคนที่อ่านขาดตั้งแต่แรกว่าระบบนี้เป็นเกมอย่างไรและคำนวณทุกการเคลื่อนไหว, ทุกการกระทำและคำพูดของตัวเองจนมาถึงจุดสูงสุดที่สมาชิกในวงได้แต่แหงนหน้ามอง (แม้กระทั่งระดับบนเหมือนกัน) เธอเข้าใจในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละคน, เธอเข้าใจในเรื่องที่ว่าความพยายามอย่างเดียวมันไม่พอและเธอก็พร้อมที่จะใช้ทุกความได้เปรียบเพื่อรักษาตำแหน่งของเธอไว้ (พร้อมๆ กับพาทุกคนในวงก้าวไปด้วยกัน) ซึ่งทุกอย่างก็คือเสน่ห์ของเธอที่ทำให้แคปเฌอเป็นคนที่สปอร์ตไลท์ส่องมากที่สุดในวง

ถัดมาคือ Tier ระดับกลางๆ ที่เพิ่งได้โอกาสเซมบัตสึในซิงเกิ้ล KFC หรือ Shonichi สมาชิกที่โดดเด่นและได้แอร์ไทม์มากที่สุดได้แก่น้องปูเป้ เธอเป็นคนที่วิพากษ์กติกาในเกมนี้, วิพากษ์อฟซ, โอตะและแฟนคลับได้สาแก่ใจว่าตกลงพวกคุณต้องการอะไรกันแน่ ทุกฉากที่เธอออกและเธอพูดนี่ได้ใจไปเลยครับ (กดตาม fb ทันทีหลังดูหนังจบ แฮร่) และลำดับสุดท้ายคือ Tier ระดับล่างที่ไม่เคยติดเซ็มบัตสึเลยสักเพลง ใน Tier นี้บทกระจายๆ กันไปค่อนข้างมากในแง่ความน้อยใจ ความพยายามที่พยายามแทบตายยังไงคนก็ไม่สนใจ คนที่เด่นที่สุดคือน้องจิ๊บครับ เธอแสดงออกถึงความเป็นคนชายขอบที่พยายามทั้งร้องทั้งเต้นให้เห็นมากที่สุดแต่โอกาสก็ยังไม่มาถึงสักที (ด้วยกติกาที่ไม่มีใครรู้และไม่แฟร์สัดๆ) แต่เธอก็ยังพยายามต่อไปตามเกมด้วยความเข้มแข็งของเธอเองและที่แฟนๆ มอบในเธอในวันงานจับมือ (ซึ่งผมก็เพิ่งรู้ว่าสำหรับสมาชิกในวงแล้วนี่คือพลังสำคัญที่ทำให้พวกเธอสู้ต่อไป ไม่ใช่แค่หน้าที่) ออกจากโรงผมก็กดตาม fb น้องเขาทันทีเช่นกัน \ w /

ตัวหนังจัดลำดับทั้งบทสัมภาษณ์, ฟุตเทจรวมไปถึงเพลงประกอบดีมากครับ มีส่วนขยี้ดราม่าเยอะอยู่เช่นเรื่องการต้องสร้างยอด follower ใน ig/facebook จนสาวๆ ไม่เป็นทำอะไรเลยทั้งวันนอกจากหาทางเพิ่มยอด (ขนาดไปเที่ยวทะเลยังเครียดว่าจะลงอะไรให้คนชอบ) แต่ว่าตอนประกาศเซ็มบัตสึดันไม่ตามลำดับยอดซะงั้น หรือฉากที่แต่ละคนพูดถึงเพื่อนสนิทในวงแล้วตัดที่แคปเฌอบอกว่าไม่สนิทกับใครเลยเพราะทุกคนเป็นน้องสาวและเพื่อนร่วมงานกันเฉยๆ ฉากฮาๆ ก็มีอย่างทุกฉากของปูเป้ที่หรือพวกอันเดอร์แซะพวกบนๆ แบบนี้ เรียกเสียงฮาได้เยอะอยู่เหมือนกัน

สุดท้ายนี้ผมก็ตอบไม่ถูกว่าหนังมันดีหรือไม่ดี ถ้าคุณเป็นโอตะที่รู้ข้อมูลระดับวงในหรือรู้อะไรมากอยู่แล้วคุณก็อาจจะเฉยๆ ถ้าคุณขาดหวังว่าโอชิหรือคามิโอชิของคุณจะได้ออกเยอะๆ คุณก็อาจจะไม่ชอบ (น้องแคนออกโคตรน้อย) แต่หนังก็เปิดมุมมองให้เห็นว่าพวกเธอก็ยังเป็นมนุษย์ปถุชนที่อยากได้รับการยอมรับและได้โอกาส (หรือรักษาโอกาส) ในสิ่งที่พวกเธอเลือก ในระบบที่มันไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกันก็เท่านั้นเอง

ป.ล. อยากดู version uncut ทันที
ป.ล. 2 แต่ละด้อมดูแล้วออกจากโรงมันจะตีกันไหม
ป.ล. 3 น่าสนใจว่าพอสาวๆ ออกจากโรงแล้วจะรู้สึกอย่างไร

One thought on “BNK48 : Girls Don’t Cry

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.